การนอน 7-8 ชั่วโมง เท่ากับหนึ่งในสามของเวลาในแต่ละวัน เพราะฉะนั้นองค์ประกอบในการนอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ท่านอน หมอนหนุน หรือที่นอน
ท่านอนหงาย
เป็นท่านอนสุดฮิตของใครหลายๆคน แต่รู้ไหมว่า หากเลือกหมอนสูงไป อาจจะทำให้ต้นคอไม่อยู่ในระดับเดียวกับลำตัว จึงอาจจะทำให้ปวดคอได้ ท่านอนหงายไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคปอดและหัวใจ เพราะขณะนอนหงาย กล้ามเนื้อกระบังลมจะกดทับปอด ทำให้หัวใจทำงานลำบากขึ้น
การนอนตะแคงซ้ายกับขวา จะส่งผลต่อสุขภาพได้แตกต่างกัน
– การนอนตะแคงขวาเป็นท่านอนที่ดีต่อหัวใจและลำไส้ เพราะหัวใจจะเต้นได้สะดวก อาหารจากกระเพาะจะไหลลงลำไส้ได้ดี
– การนอนตะแคงซ้ายอาจจะทำให้เกิดลมจุกเสียดบริเวณลิ้นปี่ หากทิ้งช่วงระหว่างอาหารเย็นกับช่วงเวลานอนไม่มากพอ การนอนตะแคงควรใช้หมอนสูง และหมอนข้าง เพื่อป้องกันอาการปวดคอและกดทับ
การนอนคว่ำ
จะทำให้กระดูกสันหลังส่วนเอวโค้งไปด้านหน้า และทำให้กระดูกคอบิด เนื่องจากการนอนคว่ำ ผู้นอนจะต้องนอนตะแคงไปทางซ้ายหรือขวา
หมอนที่ดี
นั้นจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 นิ้ว ซึ่งการนอนหงายควรนอนกับหมอนต่ำ มีลักษณะนิ่มเนื่องจากต้นคอนั้นควรอยู่แนวเดียวกับลำตัว เพื่อลดการผิดรูปของช่วงคอกับกระดูกสันหลัง และมีหมอนหนุนใต้ข้อเข่าเพื่อให้ลดแรงกดของหลังได้ดี ส่วนการนอนตะแคงเหมาะกับการหนุนหมอนที่ค่อนข้างสูง ควบคู่ไปกับการกอดหมอนข้าง เพื่อให้ต้นคออยู่ในแนวเดียวกับลำตัว ลดอาการเหน็บชาในขาข้างที่ถูกกดทับ เพื่อป้องกันการผิดรูปของกระดูกต้นคอ การนอนคว่ำทำให้หายใจลำบาก จึงควรใช้หมอนหนุนบริเวณทรวงอกเพื่อป้องกันการเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นจากการนอนคว่ำ
ความเชื่อที่ว่าการนอนที่นอนยิ่งแข็ง
จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังนั้นไม่เป็นความจริง ที่นอนที่ดีควรมีลักษณะไม่นิ่มหรือแข็งจนเกินไป เพราะจะช่วยพยุงกระดูกสันหลัง และกล้ามเนื้อต่างๆให้อยู่ในแนวปกติ ดังนั้น การเลือกที่นอน ควรคำนึงถึงองค์ประกอบทั้งในเรื่องความสบาย การกระจายน้ำหนัก และการระบายความร้อนด้วย